ระบบภูมิคุ้มกัน ด่านป้องกันเชื้อโรค Immune System
ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) หนึ่งในกลไกการทำงานของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ เป็นด่านหน้าสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย หากมีคนจามในเครื่องบินลำเดียวกัน ทำไมบางคนป่วยแต่บางคนกลับไม่เป็นไร สาเหตุก็เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเรานี่เอง
ระบบภูมิคุ้มกันประกอบขึ้นด้วยสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาและเซลล์ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เหล่านี้จะเริ่มทำงานเมื่อมีเชื้อโรคผ่านเข้าด่านหน้า เช่น ผิวหนัง และอยู่ในร่างกายมากเกินไป
ระบบภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
-
ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) หรือเรียกง่ายๆว่าทหารเกณฑ์ ร่างกายสร้างขึ้นเองเพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ทหารเกณฑ์เหล่านี้ทำหน้าที่ทั่วไป รวมถึงป้องกันเชื้อโรคด้วย หากร่างกายได้รับเชื้อทหารเกณฑ์เหล่านี้จะทำงานเพื่อป้องกันและช่วยปิดผนึกช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากการติดเชื้อ
-
ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Adaptive Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองหลังจากเกิดอาการเจ็บป่วย คือร่างกายได้เรียนรู้เพื่อจะรู้จักเชื้อโรคใหม่ๆเหล่านี้ เปรียบได้กับหน่วยอรินทราช หรือทหารที่ถูกฝึกพิเศษมาแล้ว เมื่อเราได้ติดเชื้อซ้ำ ทหารอรินทราชซึ่งรู้จักเชื้อโรคนี้แล้วจะทำงานกำจัดและทำลายเชื้อโรคเหล่านี้ทันที ช่วยป้องกันความเสี่ยงที่เราจะกลับมาติดเชื้อโรคเดิม วัคซีนที่เราเรียกว่าฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันแบบเจาะจงนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป เมื่ออายุมากขึ้น หรือผ่านการติดเชื้อใด ๆ มา จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อนั้น ๆ มากขึ้น จนเมื่อเราเริ่มแก่ ระบบภูมิคุ้มกันแบบเจาะจงจะเริ่มน้อยลง ผู้สูงอายุจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้มากกว่านั่นเอง